โครงการหุ่นละคร (Puppets)
หลักการและเหตุผล
เด็กปฐมวัยมีธรรมชาติและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากบุคคลวัยอื่นๆ และเป็นวัยแห่งการเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว ชอบสำรวจสิ่งที่แปลกใหม่ ชอบเลียนแบบผู้อื่นหรือตัวละครในนิทานที่ตนชื่นชอบ และชอบเล่นของเล่น การลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง และกระบวนการเรียนรู้ที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ ความสุข สนุกสนาน ตื่นเต้น ประทับใจ การเล่นที่แฝงความคิดสร้างสรรค์อีกกิจกรรมที่น่าสนใจก็คือ การเล่นเชิดหุ่นละคร ซึ่งหุ่นเป็นมรดกทางศิลปะเก่าแก่ที่สืบทอดมาในลักษณะต่างๆ ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ลักษณะของการใช้หุ่น อาจเป็นรูปแบบของละคร นิทาน นิยาย โดยมนุษย์เป็นผู้ควบคุมให้เคลื่อนไหว หุ่นยังสามารถจำลอง หรือเลียนแบบคล้ายของจริง ถึงจะไม่มีชีวิตแต่สามารถสื่อให้ผู้ดูเข้าถึงอารมณ์ โดยลีลาท่าทางของหุ่นที่แสดงออก (พวงเพชร มงคลเวทย์. 2536 : 10) จึงถือได้ว่า หุ่นเป็นเสมือนตัวแทนของมนุษย์ในการแสดงออกทางการเคลื่อนไหว ลีลา อารมณ์ และสื่อสารความคิดให้บุคคลอื่นรับรู้ ก่อให้เกิดทั้งความสุข สนุกสนาน เกิดความรู้สึกนึกคิดต่างๆ หุ่นจะทำให้เด็กกล้าแสดงออกและรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี (มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา. 2546 : 189 - 190) ดังนั้น หุ่นจึงนับว่าเป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของเด็ก ช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกล้าแสดงออก (ศิริกาญจน์ โกสุมภ์. 2522 : 10 ) การแบ่งประเภทของหุ่นละคร สามารถแบ่งได้หลายรูปแบบโดยอาศัยเกณฑ์ต่างๆ ในที่นี้จะกล่าวถึงประเภทของหุ่นละครโดยแบ่งตามวัตถุประสงค์ทางการศึกษาซึ่ง จิตราภรณ์ เตมียกุล ( 2531 : 34 ) ได้แบ่งประเภทของหุ่นเพื่อการศึกษาและพัฒนาเด็กออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. หุ่นเงา หรือหุ่นหนังตะลุง ( Shadow Puppet) เป็นหุ่นที่ทำมาจากแผ่นหนังหรือกระดาษแข็ง มีไม้เสียบหรือสายใยต่อเข้าส่วนต่างๆ ของร่างกาย ใช้เคลื่อนไหวประกอบเรื่อง และใช้แสงไฟเพื่อให้เกิดเงา
2. หุ่นมือ (Hand Puppet) เป็นหุ่นเชิดโดยใช้นิ้วมือเพื่อขยับมือ หัว และปากของหุ่นให้เคลื่อนไหวได้ตามต้องการ ซึ่งมีหลายแบบ เช่น หุ่นมือถุงกระดาษ หุ่นมือถุงมือ หุ่นมือถุงเท้า และหุ่นนิ้วมือ
3. หุ่นเชิด (Rod Puppet) เป็นหุ่นเชิดด้วยไม้หรือสายเชือกจากข้างล่างของตัวหุ่นให้เคลื่อนไหวตามต้องการ สามารถทำได้หลายวิธี และประดิษฐ์ตัวหุ่นขนาดต่างๆ ได้
4. หุ่นชัก ( Marionette) เป็นหุ่นที่ใช้สายโยงเป็นเส้นด้ายหรือลวดติดกับตัวหุ่น เวลาชักโยกไม้ข้างบนพร้อมกับเชือกตามต้องการ จะทำให้อวัยวะส่วนใดเคลื่อนไหวก็ได้
นักศึกษา สาขาการศึกษาปฐมวัยได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดตั้งโครงการหุ่นละคร ซึ่งในโครงการนี้จะประกอบไปด้วย หุ่นละครประเภทต่างๆ และโรงหุ่นละครที่สามารถนำไปใช้ร่วมกันได้ ถือได้ว่าเป็นอีกกิจกรรมที่เด็กชื่นชอบและให้ความสนใจ เด็กได้เล่นเชิดหุ่นละครตามจินตนาการ มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น และได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านการเล่นเชิดหุ่นละคร ร่วมถึงการได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ได้ฝึกทักษะทางด้าน การฟัง การพูด และการอ่านสีหน้า ท่าทางของหุ่นละคร อีกด้วย
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ และประสบการณ์ที่หลากหลายจากการเล่นเชิดหุ่นละคร
2. เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าแสดงออกและเชื่อมั่นในตนเอง
3. เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียภาพแก่เด็กปฐมวัยจากการเล่นเชิดหุ่นละคร
4. เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
5. เพื่อให้เด็กได้แสดงออกทางความคิด และถ่ายทอดความรู้สึกของตนผ่านหุ่นละคร
6. เพื่อส่งเสริมทักษะทางด้านการฟัง การพูด และการอ่านของเด็ก จากการเล่นเชิดหุ่นละคร
เป้าหมาย
เชิงปริมาณ โรงหุ่นและหุ่นละครประเภทต่างๆ ที่ผู้จัดทำโครงการสร้างขึ้น
เชิงคุณภาพ เด็กมีความกล้าแสดงออก ถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกผ่านหุ่นละคร เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และมีทักษะทางสังคมที่ดี
ขั้นตอนวิธีการดำเนินงาน
1. วางแผนและกำหนดหัวข้อการจัดทำโครงการ
2. นำเสนอโครงการต่อผู้บริหารของโรงเรียน
3. ประชุมร่วมกับครูประจำชั้นและผู้บริหารในการดำเนินโครงการ
4. ดำเนินการสร้างโรงหุ่นและผลิตหุ่นประเภทต่างๆ ตามขั้นตอนดังนี้
4.1 ขั้นตอนการจัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์
4.2 ขั้นการดำเนินการสร้างโรงหุ่นและหุ่นประเภทต่างๆ
4.3 เก็บภาพถ่าย ขณะดำเนินงาน
5. สรุปและประเมินผลโครงการ
สถานที่ดำเนินการ
ห้องสมุด ห้องประชุมในโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของ
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ตลอดจนห้องเรียนต่างๆ ที่สนใจนำไปใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอน
ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
เดือนกันยายน พ.ศ. 2551
งบประมาณ
1. ค่าวัสดุในการทำโรงหุ่น
- ไม้ 200 บาท
- ตะปู 30 บาท
- ค่าเย็บผ้าทำฉากและม่าน 150 บาท
2. ค่าวัสดุในการทำหุ่นละคร
- ตาตุ๊กตา 20 บาท
- ด้ายเย็บผ้า 12 บาท
- กระดาษแบบต่างๆ 60 บาท
3. ค่าวัสดุอื่น 100 บาท
(หมายเหตุ ขออนุมัติถัวจ่ายทุกรายการ)
ประเมินผล
แบบประเมินโครงการของผู้บริหาร
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. เด็กเกิดการเรียนรู้ และได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายจากการเล่นเชิดหุ่นละคร
2. เด็กมีความกล้าแสดงออกและเชื่อมั่นในตนเอง
3. ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียภาพแก่เด็กปฐมวัยจากการเล่นเชิดหุ่นละคร
4. ส่งเสริมให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น
5. เด็กได้แสดงออกทางความคิด และถ่ายทอดความรู้สึกของตนผ่านหุ่นละคร
6. ส่งเสริมทักษะทางด้านการฟัง การพูด และการอ่านของเด็ก จากการเล่นเชิดหุ่นละคร
การวิเคราะห์สรุปและข้อเสนอแนะ
ในการจัดโครงการพัฒนาผู้เรียนและสถานศึกษาครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากทางโรงเรียนเป็นอย่างดี จากการจัดตั้งโรงหุ่นและหุ่นละครไว้ในห้องอนุบาล 1/1 และทำการสังเกตเด็กที่เข้าไปเล่นเชิดหุ่นนั้น พบว่า เด็กมีความสุข สนุกสนาน และได้เล่นหรือแสดงออกตามจินตนาการ ตลอดจนได้เล่าเรื่องและเล่นหุ่นตามความคิดของตน มีบางครั้งที่เด็กเข้าไปนั่งเล่นข้างในโรงหุ่นแต่ไม่ได้เล่นเชิดหุ่นตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเป็นเพราะว่า การเล่นหุ่นละครประกอบโรงหุ่นนั้นเป็นประสบการณ์ที่ใหม่สำหรับเด็ก เด็กยังไม่รู้จักวิธีการเล่น ดังนั้นก่อนที่จะเล่นต้องสร้างข้อตกลงและอธิบายวิธีการทำกิจกรรมกับเด็กก่อน ตลอดจนครูจะต้องคอยแนะนำขณะที่เด็กเล่นด้วย เพื่อกระตุ้นความคิดและจินตนาการของเด็ก
ในการจัดทำโครงการนี้จะช่วยเสริมสร้างความกล้าแสดงออก ความมั่นใจในตัวเอง ตลอดจนจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี ในการทำหุ่นละครต่างๆ จะต้องใช้เวลาในการทำ เนื่องจากเป็นงานที่ประณีต และโรงหุ่นที่ใช้ไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่ สามารถประยุกต์จากสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่ได้ เช่น โต๊ะ ช่องประตู เป็นต้น ซึ่งหาง่าย ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลาในการจัดทำ
ปัญหาและอุปสรรค
1. ไม่มีเครื่องมือในการทำโรงหุ่น วัสดุ อุปกรณ์หายาก ลำบากในการขนส่ง
2. การทำหุ่นต่างๆ ในระยะเวลาที่จำกัด ทำให้หุ่นบางประเภทไม่สวยงามเท่าที่ควร เนื่องจากไม่มีเวลาในการตกแต่ง
3. ช่องสำหรับแสดงหุ่นของโรงหุ่นมีขนาดเล็ก ทำให้เด็กเข้าไปเล่นได้จำนวนน้อย
ภาพที่ 2 การทำโครงของโรงหุ่น ขั้นตอนการวัดแผ่นกระดานให้พอดีกับโครงของโรงหุ่น เพื่อกั้นทำเป็นฉากด้านหลัง และทำการติดแผ่นไม้เข้ากับโครงของโรงหุ่น
ภาพที่ 3 ทาสีตกแต่งโรงหุ่น การทาสีตกแต่งโรงหุ่น ทั้งส่วนที่เป็นด้านหน้าและส่วนที่เป็นด้านหลัง เพื่อให้เกิดความสวยงามและน่าเข้าไปเล่นมากยิ่งขึ้น
ภาพที่ 4 ครูร่วมกันเล่านิทาน ครูร่วมกันเล่านิทานให้เด็กฟังโดยใช้หุ่นละครและนำโรงหุ่นที่สร้างขึ้นมาใช้ประกอบการเล่า กิจกรรมนี้ช่วยดึงดูดความสนใจของเด็ก ทำให้เด็กเกิดความสุข สนุกสนาน และเด็กตั้งใจฟังนิทานที่ครูเล่า ซึ่งครูสามารถนำกิจกรรมเช่นนี้ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนได้
1 comment:
ภาพกิจกรรมสื่อออกมาชัดเจน
แต่ควรอธิบายภาพกิจกรรมแต่ละภาพด้วยค่ะ
Post a Comment